สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา ๑๖๒๙ (๑) (๓) (๔) หรือ (๖) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13129/2556 ธ. ซึ่งเป็นบุตรของ ก. และ ก. ตายพร้อมกัน ต่างไม่เป็นทายาทที่จะรับมรดกของกันและกัน เพราะในขณะที่บุคคลหนึ่งถึงแก่ความตายอีกบุคคลหนึ่งไม่มีสภาพบุคคลที่มีความสามารถที่จะมีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 15 และมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง และกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1639 เนื่องจาก ธ. ทายาทไม่ได้ตายก่อน ก. เจ้ามรดกอันจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ธ. มีสิทธิรับมรดกแทนที่ ธ. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกของ ก. ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2733/2548 ผู้ตายไม่มีบุตรและภริยา บิดามารดาของผู้ตายก็ถึงแก่กรรมไปหมดแล้วทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงตกได้แก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายซึ่งรวมถึง ล. ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (3) เมื่อ ล. ถึงแก่กรรมภายหลังโดยยังไม่ได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกส่วนที่ ล. จะได้รับก็ตกแก่ ป. ผู้สืบสันดาน แต่ปรากฏว่า ป. ถึงแก่กรรมไปก่อน ล. แล้ว ทรัพย์มรดกส่วนที่ ป. จะได้รับก็ตกแก่ผู้ร้องและ ฉ. ผู้สืบสันดานซึ่งเป็นผู้รับมรดกแทนที่ ป. ตามมาตรา 1639 ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในกองมรดกและเมื่อมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713 (2)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1584/2546 โจทก์เป็นบุตรของ พ. ซึ่งเป็นพี่สาวของผู้ตาย เมื่อขณะผู้ตายถึงแก่ความตายผู้ตายไม่มีคู่สมรสและบุตร ทั้งบิดามารดาก็ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว มรดกของผู้ตายจึงตกทอดแก่พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ซึ่งรวมทั้ง พ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(3) เมื่อ พ. ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรและผู้สืบสันดานของ พ. ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ พ. โจทก์จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเฉพาะส่วนแบ่งของ พ. ตามมาตรา 1639

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6782/2544 จำเลยปลอมพินัยกรรมของเจ้ามรดก จำเลยจึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก แต่การถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรนั้นเป็นการเฉพาะตัว บุตรของจำเลยซึ่งไม่ได้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกย่อมสืบมรดกต่อไปได้เหมือนหนึ่งว่าจำเลยตายแล้ว ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1607, 1639